ประทีป จิตติ

พูดด้วยการเขียน

วิกฤตการเมืองการปกครองสมัยใหม่ : บทเรียนจากอังกฤษต่อกรณีพฤษภาคม ๒๕๕๓ กันยายน 7, 2010

Filed under: บทความคัดสรรค์ — ประทีป จิตติ @ 19:10

วิกฤตการเมืองการปกครองสมัยใหม่ : บทเรียนจากอังกฤษต่อกรณีพฤษภาคม ๒๕๕๓

มติชนสุดสัปดาห์ ๓-๙ ก.ย. ๕๓ ฉบับที่ ๑๕๖๘

 

 

จากการพิพากษาตัดศีรษะพระเจ้าชาร์ลที่ ๑ ทำให้สังคมยุโรปมองอังกฤษเป็นชาตินอกกฎหมาย และต่างพากันคว่ำบาตร และไม่ยอมรับในการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น

ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของอังกฤษยอมรับ “รัฐอังกฤษใหม่” แทนราชอาณาจักรที่จบลงไปและยอมรับผู้อารักขาหรือรัฐบาลใหม่ด้วยความจำใจ

ตามแนวคิดทางการเมืองของ Thomas Hobbes ที่ปรากฏในงานเขียน Leviathan เขาเขียนขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองของอังกฤษนี้เอง

ประเด็นสำคัญประการหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ของฮอบส์ คือ การชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีสันติภาพ และสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการปกครองมีอำนาจสมบูรณ์เด็ดขาด

และหากต้องเลือกระหว่างการมีอิสรภาพภายใต้สภาวะอนาธิปไตยหรือสงครามกลางเมืองกับการอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการแต่มีสันติภาพความสงบเรียบร้อยแล้ว ฮอบส์ชี้ว่า ภายใต้หลักจิตวิทยาของมนุษย์ปรกติทั่วไปย่อมจะต้องเลือกอย่างหลังเพื่อรักษาชีวิตให้รอดและเพื่อความมั่นคงปลอดภัยในการดำเนินชีวิต

หากนำหลักคิดและการปฏิวัติอังกฤษมาเป็นกรอบในการทำความเข้าใจการเมืองไทย เราก็จะพบว่า มีการใช้หลักจิตวิทยาดังกล่าวนี้ในการหาทางออกจากวิกฤตการเมืองไทยอยู่เนือง ๆ

ยกตัวอย่างของการชุมนุมของพี่น้องเสื้อแดง ระหว่างเดือนมีนาคม- พฤษภาคม ๒๕๕๓…

เมื่อแกนนำนำพี่น้องเสื้อแดงไปชุมนุมปักหลักที่ราชประสงค์นานวันเข้า ก็เริ่มมีเสียงไม่พอใจออกมาจากลุ่มธุรกิจต่าง ๆ และเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการเด็ดขาดเข้าดำเนินการ

เมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็เริ่มมีกระแสออกมาว่าให้ทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ยุติความสับสนวุ่นวายที่ทำให้ไม่สามารถหาความแน่นอนในการประกอบธุรกิจ

และเมื่อถึงจุดหนึ่งการใช้กำลังเข้ากระชับพื้นที่กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนในกรุงเทพฯ ยอมรับไปโดยปริยาย และก็มีการสูญเสียเกิดขึ้นตามมา แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็ยังยอมรับได้ตราบเท่าที่สามารถนำสังคมกลับไปสู่ภาวะปรกติ

รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙…

ถ้านับย้อนไปดูรัฐประหารหลาย ๆ ครั้งที่เกิดขึ้น ก็มักอ้าง “ความสงบเรียบร้อย” เป็นสำคัญ และประชาชนส่วนใหญ่ก็ถูกโฆษณาชวนเชื่อให้เกิดความกลัวต่อสภาวะอนาธิปไตยอยู่หลายครั้ง ถ้าครั้งไหนประชาชนเชื่อ รัฐประหารครั้งนั้นก็ได้รับการยอมรับ แม้ว่าคนจำนวนหนึ่งจะไม่ชอบการทำรัฐประหารก็ตาม

แต่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่อ่อนไหวมากต่อความสับสนวุ่นวายทางการเมือง และคนพวกนี้ก็มักจะเรียกร้องการใช้อำนาจนอกระบบเข้าแก้ไขวิกฤตการเมืองตั้งแต่เนิ่น ๆ

สิ่งที่นักรัฐศาสตร์ต้องสืบค้นตรวจสอบอย่างจริงจังก็คือ สภาวะอนาธิปไตยที่ว่านั้น มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นจริงแค่ไหน หรือจริง ๆ แล้ว มันเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเท่านั้น สงครามกลางเมืองของอังกฤษที่เริ่มขึ้นในค.ศ.๑๖๔๒ และฉากแรกของมันได้จบลงในปีค.ศ.๑๖๔๙ นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

ผู้คนในอังกฤษจึงไม่ปฏิเสธอำนาจใหม่ที่เกิดขึ้นในมือของ โอลิเวอร์ ครอมแวล ผู้นำฝ่ายล้มเจ้า แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ยินดีปรีดากับผู้ปกครองคนใหม่นี้ก็ตาม แต่ถ้าคิดคำนวณบวกลบคูณหารแล้ว ก็ย่อมจะดีกว่าปล่อยชีวิตของพวกเขาอยู่ในสภาพที่ “โดดเดี่ยว ยากแค้นลำเค็ญ น่ารังเกียจ โหดร้ายป่าเถื่อนและเสี่ยงกับควมตายอยู่ตลอดเวลา”

ความอ่อนไหวทางจิตวิทยาของผู้คนดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ย่อมส่งผลต่อการนิยมใช้กำลังอำนาจนอกระบบเข้าแก้ไขวิกฤตความสับสนวุ่นวาย และหากผู้คนในสังคมมีสภาพจิตอย่างว่า ก็เข้าข่ายว่า พวกเขาเหล่านั้นมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่เอื้อให้มีการแก้ไขวิกฤตปัญหาตามครรลองของประชาธิปไตย

ความอ่อนไหวที่ว่านี้ก็คือ เกิดความกลัวเร็วไป และการเกิดความกลัวเร็วไปก็ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในการแก้ไขด้วยกลไกภายในระบบประชาธิปไตยเอง

การเกิดความกลัวเร็วไป เกิดจากการอ่อนไหวต่อการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายที่ต้องการใช้อำนาจนอกระบบเข้าแก้ไขปัญหา หรือไม่ การเกิดความกลัวเร็วไปนี้เองที่เป็นตัวเร่งให้มีการใช้อำนาจนอกระบบ

แต่แน่นอนว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว หากจะเกิดการนองเลือดหรือสภาวะสงครามกลางเมืองเข้าจริง ๆ ไม่ว่าคนในวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไหนก็ย่อมหนีไม่พ้นสภาวะทางจิตวิทยาดังกล่าว นั่นคือเลือกที่จะสงบโดยเร็วโดยถึงแม้ว่าจะต้องยอมแลกกับสภาวะเผด็จการก็ตาม

นอกเสียจากว่า ความสงบที่ได้มานั้นทำให้คนกลุ่มหนึ่งสามารถมีชีวิตอยู่รอดทำมาหากินได้เป็นปรกติตามเดิม แต่สำหรับคนบางกลุ่มนั้นไม่ได้ทำให้เขามีอาหารกิน มีชีวิตอยู่รอดเหมือนพวกแรก แน่นอนว่า พวกเขาจะยอมเดินหน้าเข้าสู่สภาวะอันสุ่มเสี่ยงต่อสงครามกลางเมือง เพราะถ้ายอมต่อไปก็อดตายอยู่ดี สู้เสี่ยงเดินหน้าไป อาจทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น

ฝ่ายที่ต้องการสร้างสถานะทางการเมืองของตนให้ชอบธรรม

ฝ่ายที่ต้องการสร้างสถานะทางการเมืองของตนให้ชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมภายใต้สภาวะที่สังคมนั้นกำลังมีวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง มีการชุมนุมประท้วง ก็อาจเร่งให้สถานการณ์สุกงอม เข้าสู่สงครามกลางเมืองโดยเร็ว เพื่อฝ่ายตนจะได้เข้ามาเป็นพระเอกยุติสภาวะอันไม่พึงปรารถนานั้น

อย่างในกรณีเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ นั้นจะพบว่า ในวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ ได้มีนักการเมืองคนหนึ่งได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนองตนต้องการทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และกล่าวถึงแผนผังล้มเจ้าที่ทางการได้นำออกมาเผยแพร่…

ในที่สุด สงครามกลางเมืองย่อย ๆ ก็ได้เกิดขึ้น แต่ที่ไม่ขยายวงไปมากกว่านั้น ก็เพราะโชคดีที่มันไม่ถึงจุดที่ประชาชนรู้สึกว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถเดินเรื่องให้จบและเร็ว แต่ถ้าพวกเขาคิดว่า มันเป็นหน้าที่ของพวกเขาต้องออกมาถวายความจงรักภักดีต่อสภาบันโดยที่ต้องออกมาจัดการด้วยตัวพวกเขาเองแล้ว เมื่อนั้นสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ก็จะถือกำเนิดขึ้น และเมื่อนั้นเรื่องมันคงเป็นไปตามแผนของนักการเมืองผู้นี้ไปแล้ว

และเมื่อสงครามกลางเมืองยืดเยื้อ ใครก็ตามที่มายุติมันลงได้ ผู้นั้นก็เข้าข่าย dues ex machine และสังคมก็จะกลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยสันติอีกครั้งหนึ่ง

แต่สันติภาพที่ว่านี้ ไม่ได้มาจากฝีมือของผู้คนในสังคมเอง เท่ากับเป็น “สันติภาพเทพประทาน” •

 

ใส่ความเห็น