ประทีป จิตติ

พูดด้วยการเขียน

แด่พญาอินทรี มีนาคม 26, 2009

แด่พญาอินทรี

๑.

‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นามนี้ผมได้ยินครั้งแรกเมื่อไร?… พยายามทบทวนความทรงจำ-เมื่อครั้งกระโน้น สมัยยังละอ่อน หนังสือหนังหายังไม่จับอ่านนอกจากหนังสือพิมพ์รายวัน

ในหนังสือพิมพ์รายวันนี่ละ ที่ทำให้ผมรู้จักชื่อ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ รู้มากไปยิ่งกว่านั้นว่าอันเจ้าของนามนี้คือนักเขียน นักหนังสือพิมพ์

เท่านั้น… สำหรับความรู้สึกในห้วงเยาว์วัยของผม

จนเมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๓ หนังสือเล่มแรกของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็ตกมาสู่มือผม ประชาธิปไตยบนเส้นทแยง นินทานายกรัฐมนตรี

ผ่านไปสองเดือนอีกเล่มก็ตามเข้ามา นวนิยาย : วรรณอำแห่งวรรณอำ มาเฟียก้นซอย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔ โปรยปกว่า “อำนาจเปลี่ยนแปลงทั้งรายละเอียดและรายหยาบของคน”

ทว่า ทั้งสองเล่มวางนิ่งอยู่บนหิ้งหนังสืออยู่เกือบสิบปี…เป็นอยู่อย่างสงบนิ่ง ฝุ่นและความชื้นที่เกาะกุมกับผนังคอนกรีตจับขอบด้านบนหนังสือเสียจนกระดำกระด่าง

บอกมิตรนักอ่านที่แนะนำงานเหล่านั้นว่า “อ่านไม่รู้เรื่อง!”

ผมคิดว่าคงมีนักอ่านที่เป็นเหมือนผมบ้าง ไม่หวังว่ามากหรือน้อย สำหรับการเริ่มอ่านงานเขียนของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ในครั้งแรก

ไม่ได้มีอคติกับนักเขียนว่า “เขียนไม่รู้เรื่อง” แต่ก้มหัวยอมรับโดยดุษณีภาพว่า ผมเอง “อ่านน้อย” หมายถึงประสบการณ์ในการอ่านยังมีไม่มากพอ

ในระดับที่คนในวงวรรณกรรมกล่าวถึงภาษาสำบัดสำนวนของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ว่าเล่นเอาคนเลิกอ่าน (และไม่คิดอ่านอีก) เมื่อได้สัมผัสภาษาสวิงสวาย

พูดให้ชัดคือ เขียนไม่เหมือนชาวบ้าน และชาวบ้าน (หมายถึงนักเขียนด้วยกัน) คงไม่มีใครคิดเขียนอย่างนั้น (เพราะอาจเป็นการฆ่าตัวเองทางอ้อมในวงวรรณกรรม?…)

แต่เหตุไฉน ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ จึงเป็นที่ยกย่อง มีผลงานสะท้านสะเทือนเป็นที่กล่าวขานมิรู้จบ?

.
.
.

๒.

ปลายปีพ.ศ.๒๕๔๙ ก่อนวันปีใหม่ เป็นธรรมเนียมที่ผม (และคนในครอบครัว) จะต้องไปรวมตัวที่บ้านหลังเก่า–บ้านสวน ก่อนที่ใครต่อใครจะแยกออกไปมีครอบครัวของแต่ละคน

ในระหว่างรอคอยสมาชิกพร้อมหน้า ผมหยุดยืนอยู่หน้าตู้หนังสือใบเก่า หนังสือหลายเล่มถูกปล่อยปละละเลยไร้การดูแล–เหมือนตู้หนังสือเป็นสุสานกระดาษเย็บเล่ม ที่ชั้นล่างสุดมีนิตยสารขวัญเรือน ปกแข็ง กรอบ สีซีด ฝุ่นจับเป็นคราบหนา วันเวลาที่สันปกล่วงเลยมากว่า ๑๐ ปี นอกนั้นเป็นหนังสือพระเครื่อง ตำราดูไพ่ยิปซี ตำราฮาวทู ฯลฯ (คิดว่าเป็นของพี่ชาย) เก่าและมีสภาพไม่ต่างกัน

ผมคิด… เหมือนมาเดินดูแผงขายหนังสือเก่า ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้น กลิ่นหอม ๆ ของกระดาษปรู๊ฟฟุ้งลอยกระทบจมูก

เปิดฝากระจก หนังสือเรียงไม่เป็นระเบียบ มีทั้งวางตั้งและนอน ไม่เรียงลำดับขนาดของหนังสือแต่ละเล่ม ผมค่อย ๆ ไล่หยิบอกมาทีละเล่ม ๆ แล้วเหมือนเจอเพชรที่ใครคนใดคนหนึ่งหลงลืมไว้

เปล่าหรอก… มันไม่ใช่เพชรแท้เพชรเทียมอะไร มันคือหนังสือขนาดพ็อคเกตบุ๊ค หน้าปกเป็นลายสลับสีส้ม-แดง-บานเย็น สลับไปมา ๗ แถบ แต่ละแถบมีแต่ตัวหนังสือตัวไม้ล้วน ๆ

แถบบนสุด มีสัญลักษณ์รูปปลาอยู่ในวงกลม “กรกฎาคมโกเมน” (โดย’รงค์ วงษ์สวรรค์ และเพื่อนหนุ่ม ราคา ๗ บาท) ถัดมา คึกฤทธิ์ ปราโมช (ลายเซ็น) ถัดมา ‘โก้ บางกอก ถัดมา ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ถัดมา อุษณา เพลิงธรรม ถัดมา ‘ลัดดา‘ ถัดมา “ใบหนาด

หนังสือ (นิตยสาร) เล่มนี้พิมพ์เมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๒ ก่อนผมเกิดสี่ซ้าห้าปี…

หยิบมาอ่าน… สงสัยและถามตัวเองว่า นี่เราถึงขั้นอ่านงานเขียนของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้แล้วเชียวหรือ (คืนรัก-นวนิยายเร้นปรัชญาและพฤติกามของคนผู้อ่อนแอ บทที่ ๘-๙) ถึงขั้นกล้าเอ่ยปากขอยืมคุณป้าผู้เป็นเจ้าของ ท่านว่าเอาไปเลย ผมจึงยึดและตีความหมายนั้นว่าเป็นการ “ให้”

สัญญากับคุณป้าในใจ ผมจะดูแลเก็บรักษาอย่างดี ประหนึ่งว่าเป็นมรดกที่มีคุณค่าตีเป็นราคาค่างวดออกมามิได้…

กลางปีพ.ศ.๒๕๕๐ ในวันที่จิตตกวันหนึ่ง ผมนั่งลงหน้าตู้หนังสือ หยิบเอา มาเฟียก้นซอย ออกมาอ่านจนจบ อ่านอีกรอบเมื่อได้แผ่นดีวีดีภาพยนตร์ เดอะ ก็อดฟาเธอร์ บางบทบางตอนบางฉากอ่านแล้วก็ต้องอมยิ้มกับ ซอนนี่ พงษ์, เฟรด บุญมา และ ไมเกิ้ล ล้วน ผู้เป็นตัวละคร, ตามด้วย นินทานายกรัฐมนตรี

ผมทิ้งระยะเวลาอ่านทั้งสองเล่มไปถึง ๗ ปี

แล้วผมก็อ่าน 2 นาฑี

ทว่าน่าเสียดายที่ผมมาเริ่มอ่านช้าไป… เหมือนได้สัมผัสงานเขียนนั้นเพียงแค่ หนึ่งนาที, เป็นความรู้สึกเมื่อได้ทราบข่าวว่า พญาอินทรี นาม ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่โบกโบยบินอีกแล้ว

โลกใบนี้แคบลงอีกวาระ…

แคบลงเพียงเพราะเมื่อคนที่เรารู้จักจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

.
.
.

๓.

วันหลังจากวันนั้น, ผมระลึกถึงความเป็นชีวิต

“ความตาย” เป็นสิ่งปรกติ ความมีชีวิตอยู่ต่างหากที่ทำให้เราแตกต่างกัน, ชีวิตของพญาอินทรี ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็เช่นกัน เป็นชีวิตที่ทรงคุณค่าควรแก่การศึกษา หาใช่แค่พ่นลมหายใจโล่งอก รำพึงรำพันว่าแผ่นดินคงสูงขึ้นกว่าเดิม, ใช่ละ มันเป็นความตายที่เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกันในความคิดคำนึงของผู้ที่ยังอยู่

ใช่, การจากไปของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นอย่างแรก ·

๑๙ มี.ค. ๕๒

เขียนใน สวัสดีวันอาทิตย์ ปีที่ ๔ อาทิตย์ที่ ๒

 

 

ใส่ความเห็น