ประทีป จิตติ

พูดด้วยการเขียน

ถ้อยคำรำพึงในความเงียบซึ่งไม่มีอยู่จริงในห้วงขณะหนึ่ง ตุลาคม 16, 2010

Filed under: ใจถึงใจ — ประทีป จิตติ @ 04:07

Image0296 

ถ้อยคำรำพึงในความเงียบซึ่งไม่มีอยู่จริงในห้วงขณะหนึ่ง

               

เมื่อมีคนตั้งข้อกล่าวหาเอากับเรา แน่นอน เราย่อมมีเหตุผลโต้แย้ง เหตุผลนั้นมันอาจเป็นข้อแก้ตัวสำหรับผู้ที่ตั้งข้อกล่าวหา แต่สำหรับเรา เหตุผลนั้นย่อมไม่ใช่ข้อแก้ตัว

                เหตุผลก็คือเหตุผล คือคำอรรถาธิบายให้ฟัง

                แต่ก็อีกนั่นละ หากฝ่ายตรงข้ามไม่รับฟัง ย่อมมองว่านั่นคือคำแก้ตัว

                แปลกพิลึกละ ที่เขาต้องการให้เราพูด ให้เราอธิบาย สุดท้ายกลับมองเป็นคำแก้ตัว อย่างนั้นแล้วจะต้องการไปทำไม

                สุดท้ายเราเลือกไม่พูด คุณอยากว่าอย่างไรก็ว่ามา

                การไม่พูดนั้นหาใช่ว่าเรายอมรับ เราจำนน ต่อข้อที่คุณกล่าวหา

                ครั้นเราเงียบคุณยิ่งร้อนรน อยากให้เราพูด พูดพูดพูดอะไรบางอย่างออกมา

                เหมือนความเงียบจะสยบความเคลื่อนไหวได้ ทว่ากลับสยบไม่ได้

                คุณว่าเรากำลังต่อต้านด้วยการนิ่งเงียบ เพิกเฉย เหมือนยอมรับ แต่คุณไม่ยอมรับท่าทีนั้น ๆ

                เหมือนคุณบ้า

                หรือว่าเราบ้า

                เอาสิเอา ใครจะบ้ากว่ากัน

                เหตุผลหนึ่งที่เราเลือกเงียบ นั้นเป็นเพราะหลายต่อหลายครั้งที่คุณมอง คุณคิด ว่าเหตุผลของเรานั้นคือคำแก้ตัว นานเข้า หลายครั้งเข้าเราเหนื่อยใจ เหนื่อยใจที่จะอรรถาธิบาย  เมื่อครั้นเราเลือกเงียบคุณกลับร้อนรน อยากให้เราหาคำแก้ตัว ขณะเดียวกันคุณไม่เคยมองย้อนกลับไปที่ตัวคุณเอง

                เราคิดอย่างตลกบ้า ๆ แม้เอากระจกเงาบานใหญ่มาวางตรงหน้าคุณ คิดว่าคุณคงเดาไม่ออกว่าเรากำลังทำอะไร  คุณอาจยิ่งโมโห กับท่าทีการแสดงออกทางสัญลักษณ์ของเรา

                เราไม่ว่าคุณโง่

                เราคิดว่า “อัตตา” ของคุณนั้นสูงเกินไป

                จริงแล้ว อัตตาของคุณ หรือของเราอาจสูงเท่าเทียมกัน เพียงแต่มันแหวกออกไปคนละมุม คนละทิศทาง

                เราอาจอยู่ทางซ้าย และคุณอยู่ทางขวา (หรือเราทางขวาคุณทางซ้ายก็ได้)

                มันไม่ยากอะไรเลย หากเราจะยอมค้อมหัวโดยดุษณีว่า เหตุผลของเรานั้นคือ “คำแก้ตัว”  เช่นกัน มันไม่ยากอะไรเลยหากคุณจะยอมรับว่าถ้อยคำของเรานั้นคือ ”คำอรรถาธิบาย” หาใช่ข้อแก้ตัว

                อย่างไรก็ตาม ในเมื่อพื้นที่นี้เป็นที่ของเรา เราจะพูดในสิ่งที่เราคิดและมอง

                เราไม่ยอมรับอย่างง่าย ๆ หรอกว่า คุณจะเย้ยถากถางเราอย่างไร เราไม่ยอม และเรากำลังต่อต้านคุณด้วยหลักอะไร “อหิงสา” หรืออย่างไร

                หากการเงียบนิ่งเฉยจัดเป็นการต่อสู้อย่างหนึ่ง ไม่โต้ตอบด้วยวาจา ไม่โต้ตอบด้วยกาย ใช้ยิ้มรับเป็นการตอบโต้ หากคุณไม่แก่รงพอ คุณจะรู้สึกว่าเหมือนโดนสบประมาท

                ความสุขของผู้โบยตีคืออะไรหากไม่ใช่เสียงร้องของความเมตตา ร่ำไห้ โอดครวญ หากแต่ความนิ่งเฉยไม่ปริปากร้องกู่เรียกใช่ความสุขที่ผู้โบยตีพึงพอใจ

                หรือนั่นคือความพึงพอใจ หากใช่ก็มิจำเป็นต้องโบยตีใช่หรือไม่ หรือนั่นจะเป็นความพึงพอใจ ตาต่อตาฟันต่อฟัน

                อย่างไรก็ตาม เรามีความเชื่อว่า นั่นมิใช่ความพึงพอใจของคุณผู้ซึ่งโบยเฆี่ยนตี

                คุณถึงได้รังควานเราเรื่อยมา

          ฉะนั้นเมื่อเราถูกโบยตี เราจึงต้องอดทน  ทนอย่างที่สุด ไม่ใช่อดทนอย่างถึงที่สุด ซึ่งนั่นจะเป็นการนำเราไปสู่การบรรลุผล ในหลักการอหิงสาใช่หรือไม่

                เราไม่รู้ในรายละเอียดนักหรอกว่า หลักการของอหิงสานั้นคืออะไร ต้องทำอย่างไร แต่เท่าที่เรารู้ เราจะไม่ตอบโต้โดยใช้วิธีที่เราถูกกระทำ  อะไรที่เราเชื่อ เราคิดว่านั้นคือความชั่ว ความไม่ดี เราจะไม่โต้ตอบด้วยความชั่ว ความไม่ดี  คุณใส่ร้ายเรา โบยตีเราด้วยวาจา เราจะไม่โต้ตอบกลับด้วยสิ่งนั้น

                ใช่หรือไม่ว่าเราควร หรืออย่างน้อยก็ควรจะตอบโต้ด้วยสิ่งตรงกันข้าม

               คุณใส่ร้ายเรา เราจะชื่นชมในสิ่งดีของคุณ  คุณโบยตีเรา เราจะสำนึกถึงความเจ็บปวด ให้อภัยคุณ ไม่โกรธคุณ ปรารถนาให้คุณซึมซับความเจ็บปวดของเราบ้าง เพื่อที่บางทีคุณจะเข้าใจถึงความเจ็บปวด เมื่อคุณเข้าใจคุณจะเอาใจของเราใส่เข้าไปในใจคุณ คุณจะรู้สึกเจ็บปวดเช่นเราบ้าง เมื่อนั้นเราหวังว่าคุณจะเข้าใจในสิ่งที่คุณทำ  คุณจะเข้าใจว่าควรแล้วหรือที่จะกระทำเช่นนั้น

                ใช่แล้ว เราอภัยให้คุณ และปรารถนาให้คุณได้สัมผัสใจของเรา

                ไม่จำเป็นที่เราจะโต้ตอบความที่เราคิดว่าเลว ด้วยการทำเลวกลับไป

                ไม่จำเป็นที่เราต้องใช้การต่อสู้ที่เรียกว่าตาต่อตาฟันต่อฟัน

          เช่นนั้นแล้วสิ่งที่เราคิด เราเชื่อว่ามันเลว ว่ามันไม่ดียังคงดำรงอยู่, เพียงเพราะเราไม่ต้องการให้มันดำรงอยู่มิใช่หรือ

               

               

หลังจากเรารำพันไปดังข้างต้น เราคิดว่าจำเป็นหรือไม่ว่าผู้อื่นผู้ใดจะต้องเข้าใจเหตุผลของเรา หากว่าเราอรรถาธิบายไปแล้ว

                ไม่จำเป็น

                ไม่ต้องคาดหวังว่าผู้อื่นผู้ใดจะเข้าใจเรา

                ขอเพียงเราเข้าใจตัวตนของเรา

                ถูกหรือผิดต่างกันเพียงแค่ศรัทธา

                ในความเป็นชีวิต เราต่างเดินทางด้วยความโดดเดี่ยวในขณะย่างก้าวท่ามกลางผู้คน

                ยิ่งทำความเข้าใจกับชีวิต ยิ่งเหมือนไม่เข้าใจชีวิต

                ยิ่งพยายามทำความเข้าใจผู้คน เหมือนยิ่งไม่รู้จักผู้คน

          ยิ่งละเลยปัจจุบัน ยิ่งไม่เห็นสิ่งใด

               

๑๕ ต.ค. ๕๓